ท่าไชยไบโอแก๊ส - พลังงานไบโอแก๊ส พลังงานลดโลกร้อน

พลังงานไบโอแก๊ส สำหรับฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ และอื่นๆ




ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คาร์บอนเครดิต ธุรกิจลดโลกร้อน

   ปัจจุบัน ความกังวลในปัญหาภัยธรรมชาติได้เพิ่มระดับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเผชิญกับภัยพิบัติของธรรมชาติต่อเนื่องกันในช่วงเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เช่น พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มประเทศพม่า และแผ่นดินไหวที่จีน ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่าหนึ่งแสนคน จำเลยหลักรายหนึ่งของ ภัยพิบัติธรรมชาติครั้งนี้ คือ “ปรากฏการณ์โลกร้อน” (Global Warming) นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 เดือน ก่อนหน้านั้น ก็เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงไปทั่วทั้งโลก โดยจำเลยหลักที่ถูกกล่าวโทษคือ “ปรากฏการณ์ โลกร้อน” ในฐานะที่เป็นเหตุให้ลมฟ้าอากาศแปรปรวนและก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรูปแบบต่างๆ และส่งผลต่อเนื่องมาให้ผลผลิตข้าวและผลผลิตพืชผลการเกษตรอื่นๆแปรปรวนไปด้วย

   ปรากฏการณ์โลกร้อนคืออะไร ในที่นี้ ผมอธิบายง่ายๆ โดยสรุปจาก wikipedia ภาคภาษาไทยว่า คือ ปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า “จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของปรากฏการณ์เรือนกระจก” ดังนั้น จำเลยที่แท้จริงคือกิจกรรมของมนุษย์นี่เอง โดยเฉพาะกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรม

   อันที่จริง ชุมชนโลกเริ่มตื่นตัวจากภาวะโลกร้อนดังกล่าวพอสมควรนับตั้งแต่ปี 2549 ที่อดีต รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย อัล กอร์ ได้เดินสายปาฐกถาเรื่องปรากฏการณ์ดังกล่าวและออกภาพยนต์สารคดีเรื่อง “An Inconvenient Truth” ให้ชุมชนโลกตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งนายอัล กอร์ และคณะกรรมการ IPCC ของสหประชาชาติได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันในสาขาสันติภาพประจำปี 2550 จากการกระตุ้นให้ชุมชนโลกเห็นว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนเป็นปัญหาร่วมกันของชุมชนโลก ซึ่งส่งผลให้ชุมชนโลกมีความตื่นตัวพอสมควร ดังเช่นในกรณีของประเทศไทย เราก็ได้เห็นโครงการของภาครัฐและเอกชนที่กระตุ้นให้มีการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แต่นอกเหนือจากจิตสำนึกร่วมกันของชุมชนโลกในการลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมีกลไกธุรกิจที่อาศัยแรงจูงใจทางผลตอบแทนของมนุษย์และหน่วยธุรกิจมาช่วยลดภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่ากลไกดังกล่าวนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะสามารถหาจุดสมดุลของผลดีและผลเสียจากกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรม กลไกดังกล่าวมีชื่อว่า “คาร์บอนเครดิต”

    คาร์บอนเครดิต คือการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นผู้ซื้อสิทธิ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นผู้ขายสิทธิ โดยคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นจากข้อตกลงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีภาคีทั้งหมด 191 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2548 โดยสาระสำคัญของพิธีสารเกียวโตคือประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตที่เป็นภาคีพิธีสารเกียวโต จำนวน 41 ประเทศ มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น)ระหว่างปี 2551-2555 ให้ได้ร้อยละ 5.2 จากปริมาณการปล่อยในปี 2533 ซึ่งหากไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่กำหนดจะต้องถูกปรับ โดยค่าปรับในกรณีของประเทศในกลุ่มสหภาพ ยุโรประหว่างปี 2551-2555 สูงถึง 100 ยูโร (ประมาณ 5,000 บาท) ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องการถูกปรับจะต้องซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในส่วนนี้จะขยายความในย่อหน้าถัดไปและในแผนภาพที่ 2 ทั้งนี้ ภายใต้พิธีสารเกียวโต ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศผู้ขายคาร์บอนเครดิต ที่เป็นภาคีพิธีสารเกียวโต จำนวน 150 ประเทศ เช่นประเทศไทยไม่มีพันธกรณีให้ลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่สามารถช่วยประเทศพัฒนาแล้วลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM) (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ CDM ในแผนภาพที่ 1)
 แผนภาพที่ 1

   ประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้ามาดำเนินการร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาโดยการรับซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณที่ประเทศพัฒนาแล้ว ปล่อยเกินกว่าข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต โดยสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถขายได้ต้องเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้หลังเข้าโครงการ CDM และผ่านการตรวจวัดแล้วซึ่งจะถูกเรียกว่า Certified Emission Reduction (CERs) หรืออีกนัยหนึ่งคือ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และซื้อขายกันในตลาดคาร์บอน (Carbon Market) โดยตลาดดังกล่าว ประกอบไปด้วยผู้ซื้อ คือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถูกกำหนดให้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ขายคือประเทศกำลังพัฒนา (ดูรายละเอียดกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแผนภาพที่ 2)


แผนภาพที่ 2


   ปัจจุบัน มูลค่าตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกขยายตัวเร็วมากโดยในปี 2549 ขยายตัวถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.และขยายตัวเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์สรอ.ในปี 2549 สำหรับประเทศไทย ธุรกิจคาร์บอนเครดิตนับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจโดยเฉพาะธุรกิจเอกชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐเริ่มมาสนับสนุนมากขึ้นโดยได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อรับรองโครงการ CDM และสนับสนุนการพัฒนาโครงการ สำหรับในส่วนของการลงทุนนั้น เอกชนมีทางเลือกในการลงทุนอย่างน้อย 2 รูปแบบ คือ 1) การลงทุนด้วยตนเอง กล่าวคือเอกชนไทยลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง 2) การร่วมทุน ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ที่มีเงินลงทุนต่ำและมีความรู้ในด้านนี้เล็กน้อย โดยรูปแบบการร่วมทุนมีหลายประเภท เช่นการร่วมทุนกับรัฐบาลประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือร่วมทุนกับกองทุนที่เกิดจากการรวมตัวกันของรัฐบาลหรือกลุ่มทุนเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการร่วมทุนกับบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company:ESCO) อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการดำเนินงานสำหรับการเข้าร่วมโครงการ CDM ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 4.5-6.5 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ลดก๊าซเรือนกระจกอาจจะสูงกว่านี้มากส่งผลให้ภาคธุรกิจที่จะลงทุนด้วยตนเองต้องประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้วยความระมัดระวัง


   การที่ค่าปรับสำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่กำหนดมีมูลค่าสูงมากถึงประมาณตันละ 5,000 บาทต่อตันคาร์บอนฯ เทียบกับราคาขายคาร์บอนเครดิตที่ประมาณ 854 บาท ต่อตันคาร์บอนฯ (ประเมินจากราคาขายคาร์บอนฯ ล่วงหน้าเฉลี่ยของปี 2551-2552 อยู่ที่ 17-17.35 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอนฯ) ทำให้แนวโน้มราคาขายคาร์บอนเครดิตมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านี้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจ ให้เอกชนและรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วแสวงหาความร่วมมือกับธุรกิจเอกชนไทยผ่านกลไก CDM มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ CDM ที่ต้องจับตามองดังนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในโครงการ CDM ความล่าช้าของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโครงการ ความผันผวนของราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต มูลค่าการลงทุนในโครงการ CDM ที่สูงเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ข้อตกลงใหม่ที่จะมาแทนพิธีสารเกียวโตอาจจะกำหนดให้ประเทศไทยต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งจะส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีต้นทุนสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพราะอาจจะต้องเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตในอนาคต

   กล่าวโดยสรุป ธุรกิจคาร์บอนเครดิต เป็นกลไกที่ตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกผ่านกลไกที่มี แรงจูงใจด้วยผลตอบแทนทางการเงิน โดยเฉพาะกลไก CDM ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้มีความตื่นตัวในปัญหาภาวะโลกร้อนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในส่วนของภาคธุรกิจ การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะได้ผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ที่มา โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม Siam Intelligence Unit
ตุณกำลังอยู่ที่หน้า คาร์บอนเครดิต ธุรกิจลดโลกร้อน. http://thachaibiogas.blogspot.com/2011/03/blog-post.html.
เขียนโดย: Admin - วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

2 komentar untuk "คาร์บอนเครดิต ธุรกิจลดโลกร้อน"

  1. ขอบคุณครับสำหรับบทความเรื่อง คาร์บอนเครดิต ธุรกิจลดโลกร้อน ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะเลย แต่ว่าบทความยาวไปหน่อยครับ ถ้าตัดเป็นท่อนๆ เน้นทีละประเด็น จะทำให้อ่านง่ายขึ้นครับ แถมเรามีบทความสำหรับอัพเดทบ่อยๆ ด้วย

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับผม
    จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นครับ

    ตอบลบ