ท่าไชยไบโอแก๊ส - พลังงานไบโอแก๊ส พลังงานลดโลกร้อน

พลังงานไบโอแก๊ส สำหรับฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ และอื่นๆ




ขับเคลื่อนโดย Blogger.

รักษาสภาพแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ด้วย ไบโอแก๊ส

    ของเสียที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตในโรง งานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งแหล่งน้ำเสีย และขยะมูลฝอยจากชุมชน สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานใช้ได้

    พลังงานจากของเสียเหล่านี้เมื่อผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ “ก๊าซชีวภาพ” หรือไบโอแก๊ส ก๊าซชนิดนี้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มได้ มีตัวอย่างของ ชุมชนหลายแห่งประสบความสำเร็จในการใช้ก๊าซชีวภาพในการหุงต้ม สามารถลดค่าใช้จ่ายของค่าแก๊สทำกับข้าวลงได้

    ใครจะรู้ว่าความกังวลใจของ สุทัศน์ คำมาลัย เจ้าของฟาร์มสุกรดอนแก้ววัย 42 ปี ในอ.แม่ริม จะนำมาซึ่งรอยยิ้มให้กับชุมชน บ้านสบสา หนองฟาน ในต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ได้

    สุทัศน์เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรเกือบพันตัว ท่ามกลางรายได้งดงาม เขาก็ต้องอดทนต่อเสียงต่อว่าของชาวบ้าน ที่มูลของสุกรส่งกลิ่นรบกวน ร่วมด้วยกองทัพแมลงวันอีกนับหมื่น

    ปัญหากลิ่นรบกวนจากฟาร์มสุกร ชาวบ้าน 108 ครัวเรือนเข้าร้องเรียนกับ อบต. ให้ย้ายฟาร์มหมูออกจากพื้นที่ หลังจากหาทางออกอยู่นานในที่สุดสุทัศน์ก็ได้ทางออก เมื่อไปร่วมสัมมนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบว่า กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้เงินทุนสนับสนุนผ่านกรม ส่งเสริมการเกษตร ในการอุดหนุนเงินลงทุนสร้างบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสีย และพลังงานทดแทน โดยกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนเงินลงทุนประมาณครึ่งหนึ่ง 80,000 บาท ที่เหลือสุทัศน์ได้กู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่อนชำระประมาณ 8 ปี

    ในปี 2543 สุทัศน์ได้สร้างบ่อก๊าซชีวภาพด้วยเงินลงทุน 160,000 บาท สำหรับติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพแบบโดมคงที่ ขนาดความจุ 100 ลูกบาศก์เมตร


    นับจากนั้นกลิ่นไม่พึง ประสงค์จากฟาร์มหมูก็จางหายไป ขณะเดียวกันชาวบ้านจำนวน 102 ครัวเรือนยังมีก๊าซหุงต้มใช้ฟรีกันอย่างถ้วนหน้า อันเกิดจากมูลของสุกร มีความสามารถผลิตก๊าซได้ 90 ลูกบาศก์เมตร/วัน ประหยัดค่าแก๊สได้ครอบครัวละ 2,500 บาทต่อปี

    มีตัวอย่างแหล่งผลิตก๊าซชีวภาพที่มาจากมูลของสุกรอีกหลายแห่งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เช่น ฟาร์มเลี้ยงสุกร เอสพีเอ็ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกรกว่า 180,000 ตัว มีปริมาณ น้ำเสียจากฟาร์มสุกร 300 ลูก บาศก์เมตร/วัน สามารถผลิต ก๊าซชีวภาพได้ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน

    ฟาร์มแห่งนี้นำก๊าซชีว ภาพไปปั่นไฟได้ 2,000 ยูนิตต่อวัน เพื่อใช้เป็นแสงสว่างและความเย็นให้กับสุกร เท่ากับประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 6,000 บาทต่อวัน และยังมีผลพลอยได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีก วันละ 1 ตันเท่ากับ 700 บาท ต่อวัน นอกจากนั้นความร้อนที่ใช้ในการปั่นไฟ ยังทำน้ำร้อนไปใช้กกลูกหมูได้อีกด้วย

    เหล่านี้คือตัวอย่างของก๊าซชีวภาพที่มาจากการเลี้ยงสุกร ก๊าซชีวภาพมาจากของเสีย “น้ำเสีย” จากภาคการผลิตทั้งโรงงานโรงแรม ก็สามารถนำมาแปรเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพได้

    คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ต จ.กาญจนบุรี รีสอร์ตขนาด 120 ห้องพัก แต่ละวันมีเศษอาหาร ขยะและน้ำเสียมากถึง 220-350 กิโลกรัม/วัน ที่นี่ใช้ระบบก๊าซชีวภาพแบบถังลอยกวนผสม ขนาด 80 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับของเสียประเภทขยะเศษอาหาร ซึ่งเกิดจากการคิดค้น ของศูนย์วิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผ่านการลองผิดลองถูกอยู่ที่ คำแสด ริเวอร์แคว

    จนปัจจุบันสามารถส่งก๊าซชีวภาพผ่านท่อไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวปรุงอาหาร และอุ่นอาหารในส่วนจัดเลี้ยง ประหยัด ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้ถึงวันละ 680 บาทต่อวัน นอกจากนี้เศษอาหารในถังหมักยังกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี

    ตัวอย่างของระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่เห็นผลิตผลอย่างชัดเจน ยังมีที่ บริษัทชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจน้ำมันปาล์มอย่างครบวงจร ภาคใต้ บมจ. ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จ.ชุมพร ใช้ระบบก๊าซชีวภาพแบบ A+CSRT th ขนาด 70,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบ A+ UASB th 400 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 700 ลูกบาศก์เมตร/วัน น้ำเสีย จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (Refinery Oil) 300 ลูกบาศก์เมตร/วัน

    ภายหลังการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพสามารถผลิตก๊าซ ชีวภาพได้ 21,000 ลูกบาศก์เมตร/ วัน โดยได้นำก๊าซไปต้มน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชีวมวล อาทิ กะลา และทะลายปาล์ม ได้วันละ 160,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับผลพลอยได้อื่น ๆ อีกเช่น ได้ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง วันละ 5 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลง รวมทั้งช่วยลดเขม่าควัน และละอองฝุ่น จากหม้อต้มไอน้ำ ได้ด้วย

    วีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ได้ประเมินศักยภาพของก๊าซชีวภาพประเทศไทย พบว่ามีแหล่งน้ำเสียที่นำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้อีกจำนวนมาก อาทิ น้ำเสียจากฟาร์มสุกร 221,767 ลูกบาศก์เมตร/วัน โรงงานแป้งมันสำปะหลัง 40,943,400 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงงานเอทานอล 17,400,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงงานน้ำมันปาล์ม 2,501,361 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงงานอาหารกระป๋อง 41,466,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงงานสุรา 908,700 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงฆ่าสัตว์ 2,289,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี โรงงานน้ำยางข้น 4,329,030 ลูก บาศก์เมตร/ปี

    ของเสียเหล่านี้สามารถ ผลิตก๊าซชีวภาพใช้เป็นพลังงานทดแทนได้กว่า 1,009 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 1,210 ล้านหน่วย/ปี คิดเป็นเงิน 3,025 ล้านบาท/ปี หรือเท่ากับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 170 เมกะวัตต์ (ค่าไฟหน่วยละ 2.50 บาท)

    “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่นั้นประสบกับปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณที่นำมาใช้ในการลงทุน ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับแหล่งน้ำเสีย และที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุน เพราะ ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน”

    กระทรวงพลังงานจึงได้จัดงานสัมมนาไบโอแก๊ส “ฟ้าสวย น้ำใส ด้วยไบโอแก๊ส” เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรับทราบนโยบายในการสนับสนุนเทคโน โลยีก๊าซชีวภาพในรูปแบบต่าง ๆ

    รวมทั้งต้องการให้ผู้ประกอบการ อาทิ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแป้ง โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงชำแหละสัตว์ และโรงแรม ได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ หน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุน สถาบันวิชาการที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ และสถาบันการเงินผู้สนับสนุนเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ

    พร้อมกันนี้ยังจัด แสดงนิทรรศการระบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพนานาชนิด ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาให้เหมาะสมกับของ เสียแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น บางเทคโนโลยีสามารถคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี สำหรับในงานนี้นำสุดยอดเทคโนโลยีที่คัดสรรมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ ฟาร์มสุกรขนาดเล็ก โรงแรม โรงงานแป้ง โรงงานปาล์มน้ำมัน และโรงงานชำแหละสัตว์

    เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ นอกจากจะเปลี่ยนของเสีย น้ำเสียให้เป็นพลังงานแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาการปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อม แถมยังช่วยลดมลพิษจากกลิ่น ลดมลพิษจากของเสีย ทั้งบนบกและในน้ำ ได้ปุ๋ยคุณภาพสูง ที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดีด้วย

    มีตัวเลขออกมาว่า ของเสียที่ออกมาไม่ว่าจะจากคน สัตว์ หรือน้ำเสีย หากเกิดการหมักหมม ก็จะทำให้เกิดเป็นก๊าซชีวภาพ ที่ มีส่วนประกอบของก๊าซมีเทนประมาณ 65-70% ที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า.

ที่มา
http://hpe4.anamai.moph.go.th/hia/biogas.php
ตุณกำลังอยู่ที่หน้า รักษาสภาพแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ด้วย ไบโอแก๊ส. http://thachaibiogas.blogspot.com/2011/02/blog-post_9124.html.
เขียนโดย: Admin - วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แสดงความคิดเห็น "รักษาสภาพแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ด้วย ไบโอแก๊ส"

แสดงความคิดเห็น